ความคิดอันสลับซับซ้อนของคุณแม่ดร.บุญชัย

ความคิดอันสลับซับซ้อนของคุณแม่ดร.บุญชัย


Excerpt จากรายการ New Dimensions

FM 96.5 ทุกวันอาทิตย์เวลา 9.00 – 10.00 น.

โดย
ดร.บุญชัย โกศลธนากุล

 

ความคิดอันสลับซับซ้อนของคุณแม่ดร.บุญชัย

     
บทความที่นำเสนอสรุปประเด็นเกี่ยวกับแนวความคิดและคำสอนของคุณแม่พรศรี โกศลธนากุล ซึ่งคำสอนของท่าน เป็นคำสอนที่กระชับ ชัดเจน และเข้าใจได้ง่าย สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที ดังนั้น ผู้จัดจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แนวความคิดและคำสอนเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังรายการไม่มากก็น้อย เพื่อให้ผู้ฟังได้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดความสุข ความเจริญในชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป โดยคำสอนของคุณแม่พรศรี โกศลธนากุล มีดังนี้

     1. อย่าเชื่อลมปากมนุษย์
​     เพราะมนุษย์ปากอย่างใจอย่าง รู้หน้าไม่รู้ใจ ฉะนั้น ก่อนเราจะเชื่อคำพูดของคนอื่นจะต้องมีการพิสูจน์ก่อนว่าจริงหรือไม่ เราต้องไม่เชื่อคำพูดของคนทุกคน เพราะคำพูดของคนบางคนก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น จงรู้จักเลือกที่จะรับฟัง ฟังสิ่งที่ควรฟังกับบุคคลที่ควรฟัง ฟังในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม และหากมีใครก็ตามที่พูด หรือวิพากษ์วิจารณ์เรา แต่ไม่ได้เสนอแนวทางการแก้ไขให้แก่เรา ก็อย่าไปฟัง จงเลือกรับฟังเฉพาะคนที่วิพากษ์วิจารณ์เราในทางสร้างสรรค์ หรือพูดด้วยเจตนาที่ดี และเราควรน้อมรับและนำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของเราให้ดีขึ้น แต่หากฟังแล้วรู้สึกห่อเหี่ยว ชอกช้ำ ก็อย่าไปฟัง เพราะบางคนก็พูดเพียงเพราะเขาเกลียด หรือหมั่นไส้เรา ต้องการเอาจุดอ่อนของเรามาประจานเท่านั้นเอง

​     2. อย่าทำตัวเหมือนขนมเปียกปูน
​     ขนมเปียกปูนเมื่อกดลงเพียงนิดเดียว เนื้อก็จะบุ๋มลงไปทันที เปรียบเหมือนกับคนที่ใครว่าอะไรนิดอะไรหน่อยก็ไม่ได้ จิตใจอ่อนลงทันที ในทางตรงกันข้าม เราต้องมีจิตใจเข้มแข็งดั่งภูผา ไม่สะทกสะท้าน หรือหวั่นไหวไปกับคำพูดของคนอื่น ต้องไม่อวดดี และในขณะเดียวกันก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วย

​     3. พูดเท่าที่จำเป็น
​     ไม่ควรพูดในสิ่งที่เราคิดทั้งหมด เพราะมนุษย์เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา ต้องการปองร้าย ไม่มีความหวังดีต่อกันและกัน มีแต่ความโลภที่ไม่มีวันสิ้นสุด

​     4. รู้จักให้
​     ควรให้ในรูปของความช่วยเหลือ หรือวัตถุ แทนที่จะให้เป็นเงินทอง เพราะการให้ในรูปของวัตถุและความช่วยเหลือในด้านแรงกายแรงใจ จะตรึงอยู่ในใจของผู้รับมากกว่าการให้ด้วยเงินทอง และเวลาจะให้ของ หรือให้รางวัลคนอื่นควรให้แต่พอควร เพราะถ้าให้มากในตอนแรก แล้วภายหลังให้น้อยลง คนรับก็อาจจะรู้สึกว่าเขาอาจจะทำอะไรผิด และถึงแม้จะให้มากๆ ตั้งแต่ในครั้งแรกๆ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะความต้องการของมนุษย์นั้นไม่สิ้นสุด มีแต่จะอยากได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้เห็นความสำคัญของคนให้มากนัก

​     5. ต้องเลือกคบคน
​     ภูเขาสามารถถล่มเป็นถนนได้ แม่น้ำสามารถเปลี่ยนทางเดินได้ แต่นิสัยใจคอคน ยากแท้ที่จะเปลี่ยน นั่นหมายความว่า เราต้องเลือกคบคนและเลือกใช้คนให้เป็น เพราะถ้าเราคบคนดี เราก็มีโอกาสที่จะเป็นคนดีตามไปด้วย ในทางตรงกันข้าม หากเราคบคนไม่ดี โอกาสที่เราจะกลายเป็นคนไม่ดีก็มีสูง ซึ่งตรงตามที่ขงจื๊อบอกไว้ว่า เราต้องเลือกคบคนที่มีคุณธรรมเท่ากับเราหรือสูงกว่าเรา นอกจากนี้ ควรเลือกใช้คนให้ถูกกับจริต บุคลิกลักษณะนิสัย เพื่อให้งานเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ลดความขัดแย้งกับคนอื่นๆ ได้อีกด้วย รวมทั้งต้องหัดสังเกตคนจากคำพูดและการกระทำของเขา ดูว่าคำพูดและการกระทำของเขามันสอดคล้องกันหรือไม่ เราต้องฉลาดที่จะดูคนให้ออก หัดรู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ก็ชนะร้อยครั้ง

​     6. อย่าเอาเปรียบผู้อื่น
​     อย่าเอาเปรียบเบียดเบียนมนุษย์ด้วยกัน อย่าทำร้ายทำลายคนอื่น อย่าโลภโมโทสัน อย่าอิจฉาริษยา เพราะคนที่อิจฉาริษยาจะไม่มีวันมีความสุข แต่ให้คิดว่าเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้ และให้จำไว้ว่า ถึงแม้เราจะมีเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ มากมายเพียงใด เราก็ต้องไม่อวดดี เพราะความอวดดีทำให้เราเกิดความประมาท และขาดการระงับยับยั้งจิตใจ ผลที่ตามมาก็คือ เราจะคิดผิด พูดผิด ทำผิด คนก็จะยิ่งเกลียด หมั่นไส้ อิจฉาริษยา ซึ่งเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น คนที่ฉลาดคือ คนที่ผูกไมตรีกับคนรอบข้าง เพราะไมตรีจิตจะทำให้เราปลอดภัย ไม่มีใครมาคอยทำร้ายเรา เพราะถ้าเรามีการพูดจาดี มีการแสดงออกที่ให้เกียรติคนอื่น คนก็จะรักและเมตตาเรา

​     7. จะทำอะไรให้ทำแต่พอควร
​     เช่น เวลากินก็ให้กินพอประมาณ เพราะถ้ากินมากไป โรคก็จะรุมเร้า หรือบางคนเป็นพวกนิดหนึ่งก็ไม่ได้ นิดหนึ่งก็ไม่ยอม ไม่มีความเมตตากรุณาต่อคนอื่นเลย ทำให้พวกเขาไม่เคยมีความสุขเลย ดังนั้น จึงต้องรู้จักปล่อยวางบ้าง ต้องคิดอยู่เสมอว่า เกิดมาต้องมีความสุข ถ้าไม่มีความสุขแล้วจะเกิดมาทำไม

​     8. ต้องเป็นทั้งคนเก่งและคนดี
​     จะเป็นคนเก่งอย่างเดียวไม่ได้ เพราะพวกที่เก่งอย่างเดียวมักจะไม่มีคุณธรรม มักจะเอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่า หรือถ้าเป็นพวกที่ดีอย่างเดียว ก็มักจะเป็นพวกที่ไม่คิดจะทำอะไรจริงจังกับชีวิต หรือมุ่งจะปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ไม่คิดจะทำมาหากิน เลี้ยงดูตัวเอง หรือเลี้ยงดูครอบครัว ดังนั้น เราไม่ควรไปสุดกู่ใดสุดกู่หนึ่ง เพราะเรายังมีพ่อแม่พี่น้องครอบครัวที่ต้องดูแล เราต้องทำหน้าที่ทางโลกให้สมบูรณ์ด้วย

​     9. พ่อแม่ที่ดีต้องไม่บังคับลูก
​     แต่จะชี้ให้ลูกเห็นถึงแนวทางที่ดีที่ควรนำไปใช้ในการดำรงชีวิต หรือในการแก้ไขปัญหา ต้องชี้ให้เห็นว่า ในแต่ละทางเลือกมันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และถ้าทำไปแล้วมันจะเกิดผลอย่างไร แต่ถ้าพ่อแม่เข้ามาบงการบังคับลูกให้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการตลอดเวลา ลูกก็จะคิดเองไม่เป็น จะทำอะไรก็ต้องพึ่งพาพ่อแม่ ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น พ่อแม่ที่ชอบบังคับลูกให้ทำตามใจปรารถนาของตนเอง จึงเปรียบเสมือนกำลังฆ่าลูกทางอ้อม

​     10. อยากได้อะไรให้ไปแย่งมา
​     เพราะความรู้สึกไปแย่งมา จะแตกต่างจากความรู้สึกที่ต้องทำสุดความสามารถ ถ้าเรามีความรู้สึกว่าอยากไปแย่งมา จิตจะถูกรวมเป็นหนึ่ง จิตจะมุ่งมั่น แน่วแน่ ไม่ถอยหลัง ไม่กังวลว้าวุ่น ไม่คิดในทางลบว่าเราจะทำได้ไหมอย่างไร แต่การไปแย่งต้องทำโดยการเพิ่มความหมายของเรา ไม่ใช่การไปโกงคนอื่น หรือละเมิดต่อกฎระเบียบสังคม หรือกฎหมาย

​     11. เวลาจะทำอะไร ไม่ต้องกลัว ให้ทำไปเลย
​     เมื่อคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็ให้ลงมือทำไปเลย ไม่ต้องไปกลัวใคร หรืออะไรทั้งนั้น ถึงแม้จะผิดพลาดบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อผิดแล้วให้พยายามเรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้นๆ และอย่าทำผิดซ้ำอีก รวมทั้งต้องพยายามทำผิดพลาดให้น้อยที่สุด แต่ถ้ามัวแต่กลัวก็จะไม่ได้ทำอะไรเลย

​     12. อยากได้อะไรต้องทำด้วยตนเอง อย่าประจบสอพลอคน
​     อย่าไปประจบสอพลอคนรวย หรือคนมีอำนาจ เพราะหวังเพียงจะได้เศษเงินเล็กน้อยจากพวกเขา ถ้าอยากได้อะไรต้องทำด้วยตนเอง เช่น ถ้าอยากรวยก็ต้องขยันขันแข็งทำมาหากิน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องกราบขอบคุณและรู้สึกระลึกถึงบุญคุณของคนที่ช่วยเหลือเราตลอดเวลา แต่เราต้องมองให้ออกด้วยว่าที่เขาช่วยเหลือ หรือให้อะไรบางอย่างกับเรานั้น เขาให้ด้วยใจที่บริสุทธิ์ หรือหวังผลอะไรกลับคืนหรือเปล่า

​     13. อย่าอวดดี อย่าหยิ่งจองหอง
​     ในขณะที่เราอวดดีจะมีอัตตา หรือความเป็นตัวกูของกูเข้าครอบงำ ซึ่งตรงกับสิ่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ก่อนปรินิพพานว่า “อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์สูงสุดปัจจุบันด้วยความไม่ประมาทเถิด” เพราะความประมาทเป็นหนทางแห่งความหายนะ เวลาที่เราประมาทเราจะไม่มีสติสัมปชัญญะ ตัวคิดจะทำงานแรงมาก ตัวรู้จะมลายหายไปสิ้น ตัวกิเลส โลภ โกรธ หลง ตัวกูของกู จะเข้ามาแทนที่ ทำให้เราคิดผิด พูดผิด และทำผิด

​     14. ทองแท้ย่อมไม่หวั่นไหวต่อไฟ
​     กล่าวคือ จะต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม ดำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง ไม่อวดดี มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และน้อมรับแก้ไขในข้อบกพร่องของตัวเอง เมื่อนั้นจิตใจก็จะเป็นดั่งทอง แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด คิดว่าตัวเองเป็นทองคือ คิดว่าตัวเองเก่ง คิดว่าตัวเองทำถูกต้อง

​     15. ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมไว้ตั้งแต่ตอนยังเป็นหนุ่มเป็นสาว
​     ยิ่งอายุเยอะขึ้น จะยิ่งทำอะไรผิดพลาดมากขึ้น ผลพวงของการทำอะไรผิดพลาดนั้นมันจะยิ่งสลับซับซ้อนและแก้ไขยาก เพราะฉะนั้น เราควรปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมไว้ตั้งแต่ตอนยังเป็นหนุ่มเป็นสาว เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ทำอะไรผิดพลาดตอนแก่

​     16. หมั่นทำความดี
​     จงทำความดีต่อไปเรื่อยๆ เพราะคุณธรรมในโลกนี้มันไร้ขอบเขต ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ให้คิดดีๆ คิดลึกๆ คิดจนตกตะกอนแล้วทำไปเลย แต่อย่าให้คนมานั่งด่า ดูถูกเหยียดหยามว่าเราเป็นคนโกง เราต้องทำตัวให้มีสง่าราศี มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เกิดมาต้องมีความสุข ความเจริญ มีจิตใจที่งดงาม สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ที่สำคัญที่สุด จะต้องไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองทั้งกาย วาจา และใจ
 
 
Copyright © ดร.บุญชัย โกศลธนากุล
การสมัครสมาชิก

1. สมัครได้ที่สถาบันพัฒนาภาษา Fast English
  • สาขาสีลม โทร 02-631-2288  
  • สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว โทร 02-937-2121
2. โอนเงินผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ชื่อบัญชี คุณบุญชัย โกศลธนากุล เลขที่บัญชี 206-238272-5

จากนั้น scan ใบ Pay in หรือ Slip ATM โดยระบุชื่อ-นามสกุล และเบอร์ติดต่อ ส่ง e-mail มาที่ info@fast-english.com  และกรุณาโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เบอร์ 02-937-2121
รูปแบบสมาชิก
  1. สมาชิกระยะเวลา 6 เดือน (มูลค่า 500 บาท)
  2. สมาชิกระยะเวลา 1 ปี (มูลค่า 900 บาท
  3. สมาชิกระยะเวลา 1 ปีครึ่ง (1,200 บาท)
  4. สมาชิกระยะเวลา 2 ปี (มูลค่า 1,500 บาท)