ฝึกสมองสู่ความเป็นอัจฉริยะตามแบบ Leonardo da Vinci

ฝึกสมองสู่ความเป็นอัจฉริยะตามแบบ
Leonardo da Vinci


Excerpt จากรายการ New Dimensions

FM 96.5 ทุกวันอาทิตย์เวลา 9.00 – 10.00 น.

โดย
ดร.บุญชัย โกศลธนากุล

 


ฝึกสมองสู่ความเป็นอัจฉริยะตามแบบ Leonardo da Vinci

     
บทความที่นำเสนอสรุปประเด็นจากหนังสือเรื่อง How to Think Like Leonardo da Vinci แต่งโดย Michael Gelb ผู้แต่งมีสมมุติฐานว่า ความเฉลียวฉลาดของมนุษย์นั้นไม่จำเป็นจะต้องสืบทอดมาจากพันธุกรรม หรือไม่ได้เกิดจากการศึกษาเล่าเรียนจากในห้องเรียนเสมอไป แต่เกิดมาจากการเรียนรู้และเลียนแบบแนวความคิดของนักปราชญ์ทั้งหลาย และหนึ่งในนั้นก็คือ ลีโอนาโด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะบุคคล และเป็นผู้วาดภาพ Mona Lisa และ The Last Supper อันเลื่องชื่อ นอกจากนี้เขายังเป็นสถาปนิก นักปั้น นักพฤกษศาสตร์ นักภูมิศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักประดิษฐ์กลไก นักทำแผนที่ นักคณิตศาสตร์ นักกายวิภาคศาสตร์ นักปรัชญา และผู้คิดค้นอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นคนแรกของโลก แนวความคิดสำคัญของ ลีโอนาโด ดา วินชี มีใจความสำคัญ ดังนี้

     1. อยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ศึกษาค้นคว้าจนเข้าใจในเรื่องนั้นๆ อย่างถ่องแท้
     
ลีโอนาโด ดา วินชี เป็นคนช่างสังเกต และชอบตั้งคำถาม "ทำไมและอย่างไร" อยู่ตลอดเวลา เช่น ท่านมักจะถามว่าในหนึ่งชีวิตของคนเรานั้น จะทำสิ่งใดได้บ้างก่อนจะจากโลกนี้ไป เป็นต้น และในการสังเกตทุกๆ ครั้ง จะต้องมีการจดบันทึกและวาดภาพไว้เสมอ เขาเชื่อว่าสมองของมนุษย์ หากไม่ถูกใช้ให้ถูกต้องไม่มีการขบคิดหรือสังเกตสิ่งใดๆ จะทำให้สมองทื่อและหมดประโยชน์ไปในที่สุด ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากเหล็กที่วางทิ้งไว้นานก็จะขึ้นสนิม น้ำเมื่อไม่มีการหมุนเวียนก็จะเน่าเสีย การฝึกใช้สมองนั้นเริ่มได้จากการสังเกตบุคคลและสิ่งรอบข้างอย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น อากัปกิริยา การพูดการจา อารมณ์ต่างๆ เป็นต้น เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูล นอกจากนั้น การเป็นผู้ฟังที่ดี ยังเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ใช้ในการเก็บข้อมูลได้เป็นอย่างดี

     2. ทดสอบและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับเข้ามาว่า "เป็นจริงและน่าเชื่อถือ" หรือไม่
     ลีโอนาโด ดา วินชี เป็นผู้ที่มีโลกทัศน์กว้าง และเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และไม่เคยเชื่อสิ่งใดๆ ที่ผ่านเข้ามาโดยที่ยังไม่ได้พิสูจน์ ดังนั้นเมื่อได้รับข้อมูลใดๆ ก็ตามให้เก็บข้อมูลไว้อย่างเป็นกลางก่อน ไม่ควรด่วนตัดสินใจว่าผิดหรือถูกแล้วนำข้อมูลมาทบทวนพิจารณาถี่ถ้วน นอกจากนั้นการจะลงมือกระทำอะไรก็ตามให้พิจารณาให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อน แล้วจึงค่อยลงมือกระทำอย่างเต็มที่ เมื่อมีข้อผิดพลาดแล้วต้องมาศึกษาและแก้ไข มิใช่สักแต่ลงมือกระทำเพื่อลองผิดลองถูกโดยปราศจากการพิจารณา นั่นจะเป็นการทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

     3. ฝึกขัดเกลาประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้มีความเฉียบคม
     การฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 หมายความว่า เวลามองต้องเห็น เวลาฟังต้องได้ยิน เวลาดมต้องได้กลิ่น เวลากินต้องลิ้มรส และเมื่อสัมผัสจะต้องรับรู้ที่จุดสัมผัสและเมื่อเคลื่อนไหวต้องรู้ว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถใด และเมื่อพูดต้องคิดก่อนเสมอ พูดแล้วจะเกิดผลอะไร อีกฝ่ายจะรู้สึกอย่างไร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มนุษย์ส่วนใหญ่มักไม่ได้ทำเช่นนั้น ดังคำกล่าวที่ว่า You look, but you don't see. You listen, but you don't hear. You touch, but you don't feel. You speak, but you don't think.

     4. ทำใจยอมรับ "ความไม่แน่นอน" ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้
     
ให้คิดเสียว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อเตรียมพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ประมาท ทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน ให้มองโลกทุกอย่างเป็นสองด้านทั้งในแง่บวกและแง่ลบ

     5. สร้างสมดุลในการมองโลกทั้งในด้านศาสตร์และศิลป์
     ความรู้ทางด้านวิชาการต่างๆ จะถูกควบคุมโดยสมองด้านซ้าย ส่วนสุนทรียศาสตร์ เช่น ดนตรี ความงาม ศิลปะ ความสุข ความสบายใจ มโนภาพ และคุณธรรม เป็นการทำงานของสมองข้างขวา เราจึงควรสร้างมโนภาพในการแก้ปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ จะช่วยให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความสำเร็จสูงสุดมาจากการใช้สมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวานั้นคือ การประสมประสานทั้งด้านศาสตร์และด้านศิลป์เข้าด้วยกัน

     6. ดูแลร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ
     ฝึกใช้ทั้งมือขวาและมือซ้าย เพราะจะทำให้สมองเจริญเติบโตได้ทั้งสองข้าง ซึ่งจะส่งเสริมความสามารถทั้งทางด้านศาสตร์และศิลป์ ฝึกความรู้เนื้อรู้ตัวว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถใด เพราะทฤษฎีที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต กล่าวคือ หากจิตใจเรากำลังห่อเหี่ยว แล้วเรายังทำร่างกายให้ห่อเหี่ยวตาม จะยิ่งทำให้จิตหดหู่จะไม่เกิดปัญญาในการแก้ไขสิ่งใดๆ ดังนั้นต้องทำร่างกายให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า ทั้งการยืน เดิน นั่ง การแสดงอารมณ์ทางสีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส จิตใจมีความผ่องใสอยู่เสมอ เดินและนั่งด้วยหลังตั้งตรง นอนห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น ออกกำลังกายพอประมาณ ขับถ่ายเป็นประจำ รับประทานอาหารเท่าที่ร่างกายต้องการ ห้ามลงพุง

     7. ต้องหัดสังเกตสหสัมพันธ์ต่างๆ ของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราและคนรอบข้าง
     ทุกอย่างในโลกล้วนเกิดมาจากเหตุและปัจจัย ทุกอย่างมีเหตุผลไม่มีสิ่งใดเกิดมาจากสุญญากาศ ฉะนั้นอยากได้สิ่งใดให้สร้างเหตุและปัจจัย
 2012

 
Copyright © ดร.บุญชัย โกศลธนากุล
การสมัครสมาชิก

1. สมัครได้ที่สถาบันพัฒนาภาษา Fast English
  • สาขาสีลม โทร 02-631-2288  
  • สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว โทร 02-937-2121
2. โอนเงินผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ชื่อบัญชี คุณบุญชัย โกศลธนากุล เลขที่บัญชี 206-238272-5

จากนั้น scan ใบ Pay in หรือ Slip ATM โดยระบุชื่อ-นามสกุล และเบอร์ติดต่อ ส่ง e-mail มาที่ info@fast-english.com  และกรุณาโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เบอร์ 02-937-2121
รูปแบบสมาชิก
  1. สมาชิกระยะเวลา 6 เดือน (มูลค่า 500 บาท)
  2. สมาชิกระยะเวลา 1 ปี (มูลค่า 900 บาท
  3. สมาชิกระยะเวลา 1 ปีครึ่ง (1,200 บาท)
  4. สมาชิกระยะเวลา 2 ปี (มูลค่า 1,500 บาท)